หนึ่งปัญหาครอบครัวที่พัวพันระหว่าง พ่อ แม่ และลูก ไม่รู้จบ และมักพบเห็นในสังคมปัจจุบันคือปัญหาจากการไม่จดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งมีผลส่งต่อถึงเรื่องของสิทธิ์ในตัวบุตร การเป็นบุตรนอกสมรส และทายาททางมรดก แน่นอนว่าหลายเคสจัดการและเคลียร์ให้จบได้ด้วยดี แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายเคสที่จบแบบไม่แอปปี้ หรือเรื่องยังคาราคาซัง ดังนั้นวันนี้เราจะพาไปดูกันว่า การจดทะเบียนรับรองบุตรนั้นมีความสำคัญอย่างไร และเมื่อจดแล้วนั้นใครบ้างที่จะได้หรือเสียประโยชน์
การจดทะเบียนรับรองบุตรสำคัญอย่างไร?
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 ระบุว่า เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ถือเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว ยกเว้ยเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอย่างอื่น
ดังนั้นการจดทะเบียนรับรองบุตร จึงเป็นวิธีที่ทำให้บุตรนอกสมรสกลายเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของบิดา แม้บิดาและมารดาจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ตาม
ทำอย่างไรให้บุตรนอกสมรส กลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา?
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ระบุแนวทางดำเนินการให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายกรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตั้งแต่แรก 3 วิธี คือ
1. เมื่อบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง ซึ่งมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด
2. บิดาจดทะเบียนรับรองว่าเด็กเป็นบุตร ซึ่งมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด วิธีการนี้บิดามารดาไม่ต้องต้องจดทะเบียนสมรสกันก็ได้ แต่มีเงื่อนไขตามกฎหมายคือต้องได้รับความยินยอมจากมารดาและตัวเด็กเอง ต่อหน้านายทะเบียน แต่หากบุคคลทั้ง 2 ไม่อยู่ในสถานภาพที่ยินยอมได้ เช่น มารดาเสียชีวิต หรือเด็กอายุน้อยเกินไป นายทะเบียนจะจดรับรองบุตรไม่ได้จนกว่าจะมีคำสั่งของศาล
3. ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา ซึ่งมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการจดทะเบียนรับรองบุตร
1. การจดทะเบียนรับรองบุตร เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะถอนหรือยกเลิกไม่ได้ และสิทธิ์ต่างๆ ที่บุตรจะได้รับจะมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่เด็กเกิด ถึงแม้การจดทะเบียนรับรองบุตรจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ตาม
2. กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่มีชื่อของบิดาในใบเกิดของเด็ก ก็ยังไม่ถือว่าเป็นการรับรองว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย
3. การจดทะเบียนรับรองบุตร สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
• การจดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียน
• การจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน (ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายละ 200 บาท)
4. การจดทะเบียนรับรองบุตรไม่มีใบสำคัญออกให้ แต่หากผู้จดต้องการหลักฐานต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอคัดสำเนาการรับรองบุตร
ไม่จดทะเบียนรับรองบุตร มีผลอย่างไร?
• เด็กเสียสิทธิ์ที่ควรได้จากบิดา เช่น การใช้นามสกุลบิดา หรือการรับมรดก
• เรียกร้องให้บิดาจ่ายค่าเลี้ยงดูไม่ได้
• แม้บิดาจะรับรองว่าเป็นบุตรนอกกฎหมาย (แต่ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร) หากจะรับมรดกของบิดาก็ยังต้องดำเนินการพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นบุตรที่แท้จริง
• หากจะรับบำเหน็จตกทอดจากบิดาที่เป็นราชการและเสียชีวิต จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อน
• หากบิดาเสียชีวิตจากการถูกผู้อื่นกระทำ บุตรจะไม่สามารถฟ้องร้องสิทธิ์หรือไม่มีอำนาจตัดดสินใจให้ดำเนินการตามกฎหมายได้
• บุตรและบิดาต่างใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไม่ได้