26 พฤศจิกายน 2564
ในยุคที่ผู้คนปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากลูกจ้างธรรมดาๆ สู่สถานะเป็นนายของตัวเอง และเริ่มจับทางเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง สิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ควรมองข้ามเมื่อธุรกิจนั้นเติมโตถึงระดับหนึ่งคือเรื่องของการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะเป็นเครื่องยืนยันการดำเนินกิจการอย่างถูกกฎหมาย ทำให้ตัวตนอยู่จริงในโลกธุรกิจ การจัดการงานต่างๆ มีระบบมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้อย่างดีอีกด้วย
การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้นมีทั้งแบบจดทะเบียนบริษัท (สำหรับนิติบุคคล) และจดทะเบียนพาณิชย์ (สำหรับบุคคลธรรมดา) ซึ่งในที่นี้เราจะพาไปโฟกัสส่วนของนิติบุคคล ในรูปแบบของบริษัทจำกัด จะมีเรื่องที่ควรรู้หรือเอกสารอะไรต้องใช้บ้าง ลองตามไปดูกัน
เรื่องควรรู้เมื่อจดทะเบียนบริษัทจำกัด
การดำเนินธุรกิจก่อนที่คุณจะเริ่มจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด มีเรื่องที่ต้องดำเนินการก่อนดังนี้
- 1. ตั้งชื่อบริษัทที่จะใช้สำหรับจดทะเบียน โดยชื่อที่ใช้ต้องไม่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกับชื่อบริษัทอื่น โดยในขั้นตอนนี้ควรมีการคิดชื่อสำรองไว้เลย ซึ่งในทางปฏิบัติจะสามารถยื่นจองได้ถึง 3 ชื่อ หากชื่อลำดับแรกๆ ไม่ผ่านเกณฑ์นายทะเบียนจะพิจารณาใช้ชื่นในลำดับถัดไป
การยื่นจองชื่อเพื่อจดทะเบียนบริษัทนั้นสามารถทำได้ 2 แบบ คือ
-
- แบบที่ 1 ยื่นด้วยตนเองต่อนายทะเบียน โดยพื้นที่ กทม. ยื่นที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่อาศัยอยู่ ส่วนต่างจังหวัดยื่นที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด
- แบบที่ 2 ยืนจองออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ dbd.go.th
2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตจำนงในการจัดตั้งบริษัทจำกัด โดยมีรายละเอียดต่างๆ คือ ชื่อบริษัท (ต้องตรงกับที่จองไว้) จุดประสงค์ในการจัดตั้งบริษัท รายชื่อผู้ก่อการ 3 คนขึ้นไป ที่อยู่ ทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น ผู้ถือหุ้น พยาน ผู้สอบบัญชี อำนาจกรรมการ โดยการยื่นหนังสือบริคณห์สนธินั้น จะต้องเร่งดำเนินการยื่นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่นายทะเบียนแจ้งผลการรับรองชื่อบริษัทแล้ว
ขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทเมื่อจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว
1. ผู้เริ่มก่อการจัดให้มีการจองซื้อหุ้นทั้งหมด
2. ผู้เริ่มก่อการออกหนังสือนัดประชุมผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นเพื่อประชุมจัดตั้งบริษัท โดยการออกหนังสือนัดประชุมจะต้องห่างจากวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน (หรือก่อนวันประชุมอย่างน้อย 7 วัน)
3. จัดประชุมผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นเพื่อจัดตั้งบริษัท
4. ผู้เริ่มก่อการมอบหมายกิจการงานทั้งหมดให้แก่คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุม
5. คณะกรรมการเรียกเก็บค่าหุ้นจากผู้เข้าชื่อซื้อหุ้น อย่างน้อยร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น
6. เมื่อเก็บค่าหุ้นได้ครบแล้ว ให้กรรมการผู้มีอำนาจจัดทำคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัทแล้วยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด
1. คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด (แบบ บอจ.1)
2. แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด
3. รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (แบบ บอจ.3)
4. รายละเอียดกรรมการ (แบบ ก.)
5. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5)
6. สำเนาหนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท
7. สำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท
8. สำเนาข้อบังคับ ชำระค่าอากรแสตมป์เป็นเงิน 200 บาท (ถ้ามี)
9. หลักฐานการชำระค่าหุ้นที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้น
10. กรณีบริษัทจำกัดมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทจำกัดไม่ถึงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน หรือกรณีบริษัทจำกัดไม่มีคนต่างด้าวเป็นผู้ถือหุ้น แต่คนต่างด้าวเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามหรือร่วมลงนามผูกพันบริษัท ให้ส่งเอกสารหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินของผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยแต่ละรายประกอบคำขอจดทะเบียน โดยเอกสารดังกล่าวต้องแสดงจำนวนเงินที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่นำมาลงหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละราย
11. กรณีทุนที่ขอจดทะเบียนเกินกว่า 5 ล้านบาท ให้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติมตามคำสั่งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ที่ 66/2558 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2558
12. แบบ สสช.1
13. แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป
14. สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการทุกคน
15. สำเนาหลักการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
16. หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ขอจดทะเบียนไม่สามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ด้วยตนเอง โดยทำหนังสือมอบอำนาจและผนึกอากรแสตมป์ 10 บาท)
ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัทจำกัด
1. จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด 5,000 บาท
2. หนังสือรับรอง รายการละ 40 บาท
3. ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 100 บาท
4. รับรองสำเนาเอกสารคำขอจดทะเบียน หน้าละ 50 บาท
การจดทะเบียนบริษัทจำกัด ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินฑุรกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยนอกจากจะช่วยในเรื่องของสิทธิประโยชน์เอื้อกับบริษัทเองแล้ว ยังทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าและผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ถือหุ้นอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง