นักบัญชีฟังทางนี้! รับรู้รายได้อย่างไร? . . .ให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี

รับรู้รายได้

16 สิงหาคม 2562

การที่จะได้มาซี่งตัวเลขทางการบัญชีที่ถูกต้องนักบัญชีจะต้องเข้าใจหลักการของการรับรู้รายการเสียก่อน ซึ่งมีนักบัญชีหลายท่านอาจหลงลืมหลักการบันทึกรับรู้รายการกันไปบ้าง เราลองมาพิจารณาทบทวนความรู้ร่วมกันครับ

หลักการรับรู้รายการ

ก็คือ หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการบันทึกรายได้ ตามแม่บทการบัญชี ซึ่งหลักการรับรู้รายการทางการบัญชีนั้นจะมีด้วยกัน 2 หลักการคือ เกณฑ์เงินสด Cash Basis กับ เกณฑ์คงค้าง Accrual Basis (ซึ่งนักบัญชีรุ่นน้อง รุ่นหลาน และนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ ๆ หลายท่านมักจะเข้าใจผิดในเรื่องของเกณฑ์การบันทึกรับรู้รายการเกี่ยวกับรายได้ โดยเข้าใจว่าเกณฑ์สิทธิกับเกณฑ์คงค้างเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงการใช้เกณฑ์สิทธิเป็นเกณฑ์ที่กรมสรรพากรใช้ในการบันทึกรับรู้รายการเพื่อใช้ในการคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเป็นไปตามมาตร 65 แห่งประมวลรัษฎากรครับ) ลองมาวิเคราะห์ดูว่าต่างกันอย่างไร

หลักการทางบัญชี

หลักการทางภาษี

กฎเกณฑ์ที่ใช้รับรู้รายการ: แม่บทการบัญชี กฎเกณฑ์ที่ใช้รับรู้รายการ: ประมวลรัษฎากร
เกณฑ์ในการรับรู้รายได้ ค่าใช้จ่าย: เกณฑ์คงค้าง เกณฑ์ในการรับรู้รายได้ ค่าใช้จ่าย: เกณฑ์สิทธิ หรือเกณฑ์เงินสด (ในบางกรณี)
หลักการปฏิบัติ: ตามแม่บทการบัญชี, มาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง หลักการปฏิบัติ: ประมวลรัษฎากรตามมาตรา65, มาตรา 65 ทวิ,  มาตรา 65 ตรี, คำสั่ง ท.ป. 1/2528, คำสั่ง ท.ป. 155/2549, ประกาศกฎกระทรวง

 

Q : ถ้าหากเทียบกันลักษณะนี้รายได้ทางบัญชีกับรายได้ทางภาษี ก็ไม่ตรงกันใช่หรือไม่?

A : ใช่แล้วครับ เพราะรายได้ทางบัญชีทางบัญชีกับรายได้ทางภาษีนี้นั้นมีความแตกต่างในการแง่ของการพิจารณา ประกอบกับเกณฑ์การรับรู้ก็ไม่สอดคล้องกัน รายการภายใต้เกณฑ์คงค้างเป็นหลักการทางบัญชีจะรับรู้รายการที่เกิดขึ้นกับกิจการเมื่อเกิดรายการค้า แต่ไม่ได้รับรู้เมื่อมีการรับหรือจ่ายเงินหรือเกิดรายการเทียบเท่าเงินสด ซึ่งรายการแสดงการรับรู้นั้นจะถูกแสดงในงบการเงินตามงวดบัญชีที่เกี่ยวข้อง

เอาละครับเพื่อให้นักบัญชีได้เห็นภาพของการรับรู้รายได้กันมากขึ้น ผมขอสรุปตัวอย่างของการรับรู้รายได้แต่ละประเภทให้ดูกันซะหน่อย ลองศึกษาตัวอย่างต่อไปนี้นะครับ

การรับรู้รายได้การขายสินค้าของกิจการ ซื้อมาขายไป

ตัวอย่างที่ 1 บจ. A จำหน่ายสินค้าให้กับ บจ.B โดยยังมิได้ส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อต้องการฝากสินค้าไว้ก่อนเนื่องจากมีเหตุในเรื่องสถานที่ในการจัดเก็บ แต่ทั้งนี้สินค้าที่มีการซื้อขายกันกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้าได้เป็นของผู้ซื้อแล้ว และมีการยอมรับหนี้จากการซื้อขายสินค้าแล้ว

จุดที่ต้องพิจารณาสำหรับตัวอย่างที่1 ก็คือ มองในแง่ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคา ทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย” ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ของสินค้าไปแล้ว ดังนั้นแล้วแม้สินค้าที่ บจ.B ได้ฝากไว้ที่บจ. A ตามกฎหมายก็คือได้ว่าการซื้อขายนั้นสมบูรณ์

เมื่อมองในเรื่องการรับรู้รายการทางบัญชี กิจการจะสามารถรับรู้รายได้หลังจากผู้ซื้อมีกรรมสิทธิ์ในสินค้าก็ต่อเมื่อ

  1. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะส่งสินค้าให้ผู้ซื้อ
  2. สินค้าที่ขายไปอยู่ในความครอบครองของกิจการ ซึ่งกิจการได้ระบไว้แล้วอย่างชัดเจนและสินค้านั้นพร้อมที่จะส่งมอบให้ผู้ซื้อ ณ เวลาที่มีการรับรู้รายได้
  3. ผู้ซื้อมีคำสั่งเลื่อนเวลาการส่งมอบสินค้า
  4. เงื่อนไขการชำระเงินเป็นไปตามปกติ กิจการต้องไม่รับรู้รายได้หากกิจการเพียงแต่คาดว่าจะสามารถจัดหาหรือผลิตสินค้าได้ทันเวลาที่ต้องส่งมอบ

ตัวอย่างที่ 2

บจ.A จำหน่ายสินค้าให้กับ บจ.B โดยมีเงื่อนไขรับประกันสินค้าคือ ผู้ซื้อสามารถคืนสินค้าได้ภายใน 30 วัน หลักเกณฑ์ในการพิจารณาก็คือ บจ. A จะรับรู้รายได้เมื่อผู้ซื้อ (บจ.B) ยอมรับสินค้าอย่างเป็นทางการ หรือเมื่อระยะเวลาในการคืนสินค้าได้สิ้นสุดลง หลังจากผู้ซื้อได้รับสินค้าแล้ว

ตัวอย่างที่ 3

บจ.C ให้บริการติดตั้งกับ บจ.D หลักการพิจารณาในเรื่องการรับรู้รายได้การให้บริการนั้น จะพิจารณาจากขั้นความสำเร็จของการให้บริการ กล่าวคือหากมีการบริการหลายขั้นตอนก็จะรับรู้ตามการบริการที่แล้วเสร็จไป แต่หากการบริการเป็นส่วนประกอบย่อยของการขาย กิจการจะรับรู้รายได้จากการติดตั้งเมื่อขายสินค้า

ตัวอย่างที่ 4

บจ.AEC ให้บริการเกี่ยวกับการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณา กับบจ.XYZ เมื่อมีการให้บริการในลักษณะนี้ บจ.AEC จะรับรู้รายได้ค่าผลิตสื่อโฆษณาตามขั้นความสำเร็จของงานนั้น แต่หากมีการให้บริการในการจัดหาช่องทางในการเผยแพร่สื่อโฆษณา บจ.AEC จะรับรู้รายได้ของตนเมื่อสื่อโฆษณานั้นได้เผยแพร่สู่สาธารณชน

จากตัวอย่างที่ 4

จะเห็นได้ว่า การรับรู้รายได้ของกิจการนั้นก็จะรับรู้แตกต่างกันเนื่องจากงานที่ให้บริการมีความแตกต่างกัน ซึ่งนักบัญชีจะต้องพิจารณาประเด็นของรายการ เหตุการณ์ทางการค้าให้ชัดเจนด้วย

เอาละครับ มาถึงตรงนี้พื้นที่ในการเขียนของผมก็หมดลงอีกแล้ว ไว้คราวหน้าผมจะเอาตัวอย่างการรับรู้รายการหลาย ๆ แบบมาฝากท่านผู้ท่านวารสารอีก ก็ฝากนักบัญชีทุกท่านติดตามผลงานกันต่อไปนะครับ สวัสดีครับ

 

ธนพล  สุขมั่นธรรม : ผู้เขียน

 

แหล่งที่มา : www.jobdst.com

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?