ผู้ป่วยมีสิทธิ์ปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือไม่?
ปัจจุบันเรื่องของสิทธิ์ในการปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต อาจไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่คนทั่วไปจะรู้รายละเอียดและเข้าใจมากนัก และการตัดสินใจเพื่อปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยเองก็อาจสวนทางกับคนใกล้ชิด และคนในครอบครัว ดังนั้นพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ว่าด้วยเรื่องสิทธิ์ปฏิเสธการรักษา อาจมีคำตอบที่หลายคนอยากรู้ และธรรมนิตินำข้อมูลมาฝากกันแล้ว
การปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต ทำได้หรือไม่?
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
• มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
การปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต เกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง?
กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 ได้กำหนดนิยามของคำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต ดังนี้
หนังสือแสดงเจตนา หมายความว่า หนังสือซึ่งบุคคลแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่าไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย
บริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย หมายความว่า วิธีการที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมนำมาใช้กับผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาเพื่อประสงค์จะยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตออกไป โดยไม่ทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาพ้นจากความตายหรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ทั้งนี้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนายังคงได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง
วาระสุดท้ายของชีวิต หมายความว่า ภาวะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอันเกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้รับผิดชอบการรักษาได้วินิจฉัยจากการพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ว่า ภาวะนั้นนำไปสู่การตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะเวลาอันใกล้จะถึง และให้หมายความรวมถึงภาวะที่มีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างถาวร โดยปราศจากพฤติกรรมการตอบสนองใดๆ ที่แสดงถึงการรับรู้ได้ จะมีเพียงปฏิกิริยาสนองตอบอัตโนมัติเท่านั้น
หนังสือแสดงเจตนา ต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง?
หนังสือแสดงเจตนา หรือพินัยกรรมชีวิต ต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือดังกล่าวได้ โดยมีข้อมูลเป็นแนวทางในการทำหนังสือ ดังต่อไปนี้
1) รายการที่แสดงข้อมูลของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาโดยระบุชื่อ นามสกุล อายุ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้
2) วัน เดือน ปี ที่ทำหนังสือแสดงเจตนา
3) ชื่อ นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน และความเกี่ยวข้องกับผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา
4) ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะได้รับ
5) ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาให้ผู้อื่นเขียน หรือพิมพ์หนังสือแสดงเจตนา ให้ระบุชื่อ นามสกุล และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ด้วย
***หนังสือแสดงเจตนาต้องลงลายมือชื่อ หรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา พยาน และผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ด้วย
ทั้งนี้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอาจระบุชื่อบุคคลเพื่อทำหน้าที่อธิบายความประสงค์ที่แท้จริงของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาที่ระบุไว้ไม่ชัดเจน บุคคลผู้ถูกระบุชื่อดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือ และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ในหนังสือแสดงเจตนาด้วย
กรณีที่ผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ แต่หากมีเหตุเฉพาะหน้า เช่น ญาติร้องขอกับแพทย์ว่าบุตรที่ผู้ป่วยรักและผูกพันมากกำลังเดินทางมาจากต่างประเทศ ขอให้แพทย์ช่วยใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อยืดเวลาออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้บุตรได้มาพบกับผู้ป่วย เหตุผลเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ควรรับฟังความเห็นและคำขอของญาติ
การต้องทำตามหนังสือแสดงเจตนาตามผู้ป่วยนั้นอาจเป็นเรื่องทำได้ยาก แต่ทุกคนมีสิทธิ์ในร่างกายของตนเอง ดังนั้นการปฏิเสธการรักษาจึงถือเป็นสิทธิ์โดยพื้นฐานของทุกคน ซึ่งควรเคารพสิทธิ์และการตัดสินใจอย่างไม่ต้องกังวล สำหรับเรื่องหน้า ธรรมนิติ บริการด้านกฎหมาย จะนำข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายในเรื่องใดมานำเสนอบ้าง รอติดตามกันต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง
ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ