รู้หรือไม่? ทำไมรถทุกคันต้องทำ พ.ร.บ.

รู้หรือไม่? ทำไมรถทุกคันต้องทำ พ.ร.บ. 

ในทุกๆ ปี คนมีรถไม่ว่าจะรถยนต์ทุกประเภท หรือรถจักรยานยนต์ จะต้องมีค่าใช้จ่ายตายตัว อย่างภาษี และ พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535) เพื่อคุ้มครองทั้งคนขับ ผู้โดยสาร ไปจนถึงบุคคลที่ 3 ซึ่งเจ้าของรถจะเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ และจะเลือกไม่ทำก็ไม่ได้ ดังนั้นในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ ก็มาทำความเข้าใจกันดีกว่าว่าทำไมรถทุกคันต้องทำ พ.ร.บ. และสิ่งนี้มีความจำเป็นอย่างไร

พ.ร.บ. รถ คืออะไร? 

พ.ร.บ. รถ หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เป็นประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้รถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำ เพื่อมีไว้เป็นหลักประกันให้กับทุกคนในรถ หรือผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ที่จะได้รับสิทธิ์ความคุ้มครองหรือเงินค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงการประสบภัยจากรถในรูปแบบต่างๆ

รถอะไรต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ?

รถทุกชนิด ทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก  กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร ซึ่งเป็นรถที่เจ้าของมีไว้ใช้ ไม่ว่ารถนั้นจะขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นๆ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถบรรทุก รถพ่วง หัวรถลากจูง

***รถบางประเภท ที่กรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียน แต่หากเข้าข่ายว่ารถนั้นขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น ก็ถือรถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ด้วย

ใครมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.

• เจ้าของรถ
• ผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถ
• ผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศ

***หากฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กฎหมายกำหนดโทษปรับไว้ไม่เกิน 10,000 บาท

ใครจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.

ผู้ประสบภัย ซึ่งหมายถึงประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ

พ.ร.บ. รถ คุ้มครองอะไรบ้าง?

กรณีเกิดเหตุความเสียหายกับรถที่ทำประกัน พ.ร.บ. ความคุ้มครองจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

1. ค่าเสียหายเบื้องต้น ได้รับโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด

หลังเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ จะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้นกรณีต่างๆ โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด โดยบริษัทประกันจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย หรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยภายใน 7 วัน นับจากวันที่บริษัทได้รับคำร้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อ 1 คน

2) กรณีผู้ประสบภัยได้รับความเสียหายต่อร่างกาย (ทุพพลภาพ) อย่างใดอย่างหนึ่ง จะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้น 35,000 บาท ต่อ 1 คน

3) กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลตาม ข้อ 1 และต่อมาทุพพลภาพตาม ข้อ 2 รวมกันแล้วจะไม่เกิน 65,000 บาท ต่อ 1 คน

4) กรณีเสียชีวิตจะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ 35,000 บาท ต่อ 1 คน

5) กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง ตามข้อ 1 รวมกันไม่เกิน 65,000 บาท ต่อ 1 คน

 

2. ค่าสินไหมทดแทน กรณีพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิด

เป็นค่าเสียหายหลังจากที่พิสูจน์แล้วว่าผู้ประสบภัยเป็นฝ่ายถูก โดยจะได้รับค่าสินไหมทดแทน ดังนี้

1) กรณีที่ผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ถึงกับสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จะได้รับค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายอย่างอื่นที่ผู้ประสบภัยสามารถเรียกร้องได้ตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 80,000 บาท ต่อ 1 คน

2) กรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย ในกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณี จะได้รับเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อ 1 คน

3) กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อ 1 คน

4) กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน ได้รับค่าชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท จำนวนรวมกันไม่เกิน 20 วัน (เป็นค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความคุ้มครองอื่นข้างต้น)

เบี้ยประกันตาม พ.ร.บ. รถ จ่ายอย่างไร?

เบี้ยประกัน พ.ร.บ. เป็นอัตราเบี้ยแบบคงที่ แม้ผู้ทำประกันไว้จะเคยประสบอุบัติเหตุหรือเคยเบิกเคลมแล้วกี่ครั้ง หรือไม่เคยประสบและไม่เคยเบิกเลยก็ตาม เบี้ยประกัน พ.ร.บ. ก็จะยังเท่าเดิม

***ค่าเบี้ยจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภท และขนาดของรถ

ไม่ทำ พ.ร.บ. รถ ได้หรือไม่?

พ.ร.บ. รถ เป็นประกันภัยภาคบังคับ หากไม่ทำมีโทษเป็นค่าปรับ ดังนี้

• กรณีเจ้าของรถไม่ทำประกัน พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

• กรณีคนที่ไม่ใช่เจ้าของรถ แต่ขับขี่รถคันที่ไม่ได้ทำหรือไม่ได้ต่ออายุประกัน พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

• กรณีที่เป็นเจ้าของรถไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นไปใช้ ถือว่าผิดทั้ง 2 กระทง มีโทษปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท

 

แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุร้ายกับตัวเอง ทรัพย์สิน และคนในครอบครัว แต่อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝัน ดังนั้นการซื้อประกัน ไม่ว่าจะภาคบังคับ หรือภาคสมัครใจ นั่นคือการซื้อความเสี่ยง ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?