เตือนแล้วนะ! นายจ้างหัวงูระวัง … กฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 2551 ห้ามล่วงเกินทางเพศลูกจ้าง

10 กันยายน 2562

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ มีการแก้ไขเปลี่ยนกฎหมายคุ้มครองแรงงานในภาคเอกชนอยู่หลายเรื่อง เรื่องการคุ้มครองแรงงานหญิง เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมขึ้น ในบทความนี้ขอกล่าวถึงการคุ้มครองแรงงานหญิงในเรื่องข้อห้ามล่วงเกินทางเพศตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่

คุ้มครองการล่วงเกินทางเพศ (sex harassment)

แนวความคิดเรื่องการคุ้มครองห้ามล่วงเกินทางเพศ มีเหตุผลพื้นฐานมาจาก นายจ้างและผู้ได้รับมอบหมายจากนายจ้าง เช่น ผู้จัดการ หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน ฯลฯ มีอำนาจบังคับบัญชาเหนือลูกจ้าง ลูกจ้างต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของบุคคลเหล่านี้ นายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาที่ไม่ดีอาจใช้อำนาจบังคับบัญชาแสวงหาความสุข ความพึงพอใจทางเพศจากผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ลูกจ้างต้องถูกล่วงเกินทางเพศ เกิดความไม่สบายใจ อึดอัดใจ มีผลเสียต่อการทำงานและผลประกอบการของนายจ้าง

โดยทั่วไปการคุกคามทางเพศจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง คำว่า “นายจ้าง” หมายถึงนายจ้างที่แท้จริง รวมทั้งผู้ได้รับมอบหมายจากนายจ้างด้วย

เช่น ผู้จัดการ หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน ฯลฯ ดังนั้น การที่ผู้จัดการล่วงเกินทางเพศต่อหัวหน้า หัวหน้างานล่วงเกินทางเพศลูกน้อง หรือผู้จัดการล่วงเกินทางเพศลูกน้อง ถือว่าเข้าองค์ประกอบข้อนี้ เพราะเป็นกรณีนายจ้างล่วงเกินลูกจ้าง แต่ถ้าลูกน้องล่วงเกินทางเพศหัวหน้างาน หรือหัวหน้างานล่วงเกินทางเพศต่อผู้จัดการ แม้เป็นเรื่องการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่ไม่ถือเป็นการล่วงเกินทางเพศในความหมายนี้ นอกจากนี้พนักงานที่มีตำแหน่งเท่าเทียมกันล่วงเกินทางเพศซึ่งกันและกันก็ไม่ใช่เรื่องการล่วงเกินทางเพศตามมาตรานี้

ประการที่สอง การที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้างนั้นต้องมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศ

เช่น การจับหน้าอก จับก้นผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อตอบสนองความสุขหรือความต้องการทางเพศ ถือเป็นการล่วงเกินทางเพศ แต่ถ้าเป็นผู้จัดการชาวต่างประเทศสัมผัสมือกับลูกจ้างหญิงที่เข้าทำงานใหม่เพื่อเป็นการทักทายตามธรรมเนียมตะวันตก โดยไม่มีความคิดพื้นฐานมาจากเรื่องเพศ ก็ไม่ถือว่าเป็นการล่วงเกินทางเพศตามความหมายนี้

แต่เดิมกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับปี 2541 มีบทบัญญัติในเรื่องการคุกคามทางเพศ ในมาตรา 16 บัญญัติว่า

“ห้ามมิให้นายจ้าง ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างหญิงหรือเด็ก”

ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อจำกัด อย่างน้อยสองประการ

ประการแรก เรื่องขอบเขตของการคุ้มครอง กำหนดไว้ค่อนข้างแคบ เนื่องจากกฎหมายใช้คำว่า “กระทำการล่วงเกินทางเพศ” ในทางสากลอาจแบ่งการล่วงเกินทางเพศในสถานที่ทำงานออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

Quid Pro Quo Harassment

หมายถึง การที่นายจ้างหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายจ้าง เช่น ผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้างาน ที่มีตำแหน่งสูงกว่าลูกจ้าง เรียกร้องหรือยื่นข้อเสนอต่อลูกจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขหรือความพึงพอใจในเรื่องเพศ เช่น ขอให้มีเพศสัมพันธ์ การยินยอมให้จับต้องสัมผัสร่างกาย ฯลฯ โดยเสนอผลประโยชน์เป็นการตอบแทน เช่น การขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง ได้สิทธิเข้ารับการฝึกอบรม ฯลฯ หากลูกจ้างไม่ยินยอมจะได้รับผลร้าย เช่น ถูกลงโทษทางวินัย กลั่นแกล้งโยกย้ายหน้าที่ ไม่ให้ทำงานล่วงเวลา ฯลฯ ทำให้ลูกจ้างตกอยู่ในภาวะต้องเลือกระหว่างยอมให้ถกลวงเกินทางเพศหรือจะได้รับผลร้ายเกี่ยวกับการทำงาน การล่วงทางเพศแบบนี้อาจเรียกว่า “sexual blackmail” ความรุนแรงของการถูกล่วงเกิน อาจแค่การจับต้องสัมผัสร่างกายหรืออาจรุนแรงถึงการถูกข่มขืนกระทำชำเรา

Hostile Environment Harassment

หมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศในการทำงานที่ไม่เป็นมิตร ก่อให้เกิดความอึดอัด ไม่สบายใจโดยมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น การติดภาพหญิงในสภาพโป๊เปลือยไว้ในสถานที่ทำงาน การเขียนข้อความในเรื่องเพศไว้ในที่ทำงาน การนำภาพลามกอนาจารไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือสรีระร่างกายของลูกจ้างหญิง ฯลฯ

ประการที่สอง เรื่องเหยื่อที่ได้รับความคุ้มครอง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างหญิงและลูกจ้างเด็ก ลูกจ้างหญิงหมายถึง ลูกจ้างเพศหญิงทั้งหมด ส่วน “ลูกจ้างเด็ก” (young workers) หมายถึง ลูกจ้างชายและลูกจ้างหญิงที่มีอายุระหว่าง 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี ดังนั้น ลูกจ้างชายที่มีอายุเกิน 18 ปี จะไม่ได้รับความคุ้มตามบทบัญญัตินี้ หรือ อาจกล่าวได้ว่า หากผู้จัดการหญิงล่วงเกินทางเพศต่อลูกน้องชายที่มีอายุเกินกว่า 18 ปี ผู้จัดการหญิงจะไม่มีความผิดตามมาตรานี้ ราวกับว่ากฎหมายมาตรานี้เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศเสียเอง

กฎหมายคุ้มครองแรงงานใหม่

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2551 มาตรา 16 แก้ไขข้อบกพร่องเดิม โดยบัญญัติใหม่ว่า “ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกิน คุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้าง”

จะเห็นได้ว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่สามารถแก้ปัญหาประการแรก คือ ขอบเขตการกระทำที่ได้รับความคุ้มครอง กฎหมายใหม่ใช้คำว่า “ล่วงเกิน” “คุกคาม” หรือ”ก่อความเดือดร้อนรำคาญ” ทางเพศ อันเป็นการขยายขอบเขตการคุ้มครองให้มากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ดี ถ้อยคำตามกฎหมายยังเป็นปัญหาในการแปลความ หากพิจารณาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถาน พ.ศ.2542

คำว่า “ล่วงเกิน” หมายถึง แสดงอาการเกินสมควรต่อผู้อื่นโดยล่วงจารีตประเพณีหรือจรรยามารยาท ด้วยการลวนลาม (หมายถึงล่วงเกินในลักษณะชู้สาวด้วยการพูดหรือกระทำเกินสมควร เช่น พูดจาลวนลาม ถือโอกาสจับมือถือแขน) ดูหมิ่น (หมายถึงแสดงกริยาท่าทางฯเป็นเชิงดูถูกว่าด้อยกว่าต่ำกว่า) สบประมาท เป็นต้น
คำว่า “คุกคาม” หมายถึง แสดงอำนาจด้วยกริยาหรือวาจาให้หวาดกลัว ทำให้หวาดกลัว
คำว่า “รำคาญ” หมายถึง ระคายเคือง เบื่อ ทำให้เดือดร้อนเบื่อหน่าย

ประการที่สอง กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ คุ้มครองลูกจ้าง คำว่า “ลูกจ้าง” ครอบคลุมถึงลูกจ้างทุกเพศทุกวัยไม่ว่าชายและหญิงล้วนแต่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้

หากมีการล่วงเกินทางเพศ จะต้องถือว่าเป็นการกระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง
คดีเรื่องหนึ่ง ลูกจ้างเป็นผู้บังคับบัญชาอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนชักชวนลูกจ้างหญิงซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาออกไปเที่ยวเตร่ด้วยกันในเวลากลางคืนนอกเวลางาน หากลูกจ้างหญิงไม่ไปจะกลั่นแกล้งเสนอความเห็นไม่ให้ลูกจ้างหญิงผู้นั้นผ่านการทดลองงาน การกระทำดังกล่าวมุ่งประสงค์เพื่อการล่วงเกินทางเพศลูกจ้างหญิงซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตน ถือเป็นการล่วงเกินทางเพศ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของลูกจ้างที่เป็นผู้บังคับบัญชา นอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมหรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของนายจ้าง ทำให้พนักงานขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน การฝ่าฝืนของลูกจ้างถือเป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1372/2545)

บรรดานายจ้าง ผู้จัดการ หัวหน้างานฯลฯ หัวงู ระวังกฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 2551 ไว้บ้างก็ดีนะครับ ! เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

โดย กองบรรณาธิการ

 

——

แหล่งที่มา : www.jobdst.com

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?