18 เมษายน 2563
ผ่าประเด็นบริหารคน ชี้ถูกผิดกฎหมายแรงงาน โซเชียลมีเดียดาบ 2 คม ถ้าใช้ในเวลาทำงานเลิกจ้างได้
พบกับตัวอย่างคำพิพากษาเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดีย ของพนักงานในเวลาทำงาน
ศาลมองว่าเป็นธรรมแล้ว เล่นโทรศัพท์ เล่นโซเชียลมีเดียผิดระเบียบแต่ต้องเตือนก่อน ซ้ำคำเตือนไม่ต้องจ่ายอะไรเลยก็ย่อมได้ ขอให้แค่รู้หลักใช้มาตรการทางวินัยที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นธรรม และสุจริต นายจ้างย่อมใช้อำนาจได้เต็มที่
ขอเสนอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 17/2560 ระหว่าง นางสาว A โจทก์ กับ บริษัท B
โปรแกรมไลน์ที่มีการจัดตั้งกลุ่มสนทนาขึ้นโดยหัวหน้างานโจทก์ เพื่อประโยชน์ในการสั่งงานและบริหารงานให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้บริหาร จำเลยมีบันทึกประวัติการสนทนาข้อความว่า “เดี๋ยวพอ C ลาออก ลบให้หมดเลยที่เคยทำ” นั้น เมื่อผู้เขียนข้อความดังกล่าวมิใช่ตัวโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (2)
ส่วนกรณีที่โจทก์เล่นโทรศัพท์ส่งข้อความผ่านโปรแกรมไลน์ในเวลางาน เมื่อกฎระเบียบพนักงานของจำเลย ห้ามเล่นโทรศัพท์ขณะทำงาน เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ แม้จะมีการพูดคุยในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวปะปนกันก็ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) แต่เป็นกรณีไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือก่อน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุกระทำผิดซ้ำคำเตือน จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
แต่การที่โจทก์ฝ่าฝืนกฎระเบียบพนักงาน ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่ามีระเบียบดังกล่าว ถือเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์
อาจารย์ขอวิเคราะห์โดยนำคำพิพากษามาว่ากันเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1.คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และค่าจ้างค้างจ่ายในเดือนพฤษภาคม 2559 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานภาค 8 (ภูเก็ต) พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 มิถุนายน 2559) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ คือ นายจ้างแพ้หมดรูปทุกประเด็นพิพาทเลยครับ จำเลย (นายจ้าง) ก็จึงต้องอุทธรณ์ต่อไป
2.ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยแล้ว ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 ตำแหน่งพนักงานต้อนรับส่วนหน้า อัตราเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 16,000 บาท กำหนดจ่ายเงินเดือนทุกวันที่ 30 ของทุกเดือน ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างของวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า
2.1 โจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรงเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่
2.2 การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่
2.3 การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่
3.สำหรับกรณีการรับส่งข้อความทางโปรแกรมไลน์ (Line) ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า “โจทก์จะร่วมกับพวกลบข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของจำเลยซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญเมื่อโจทก์ลาออก” นั้น เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 โปรแกรมไลน์ดังกล่าวเป็นการจัดตั้งกลุ่มสนทนาขึ้นโดยนางสาว D ซึ่งเป็นหัวหน้างานโจทก์เพื่อประโยชน์แก่จำเลยในการสั่งงานและบริหารงานให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้บริหารจำเลย บันทึกประวัติการสนทนาทางโปรแกรมไลน์ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 เวลา 11.01 นาฬิกา ตรงข้อความที่ว่า “เดี๋ยวพอ C ออก ลบให้หมดเลยที่เคยทำ” นั้น ผู้เขียนข้อความคือ “C Reception” ซึ่งหมายถึงนางสาว C มิใช่ตัวโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 119 (2) ตรงนี้น่าสนใจ ถ้าในทางกลับกันตัวโจทก์ที่ฟ้องเป็นคนพิมพ์ข้อความนี้ลงในไลน์ล่ะ? ถือว่า จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นะครับ ซึ่งสามารถเลิกจ้างได้ (ไล่ออก) ไม่ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยด้วยซ้ำไปครับ เพราะประเด็นชี้แพ้ชนะอยู่ตรง “จงใจ” หรือไม่ไงล่ะครับ คำว่า “จงใจ” ก. หมายความว่า ตั้งใจ, หมายใจ, เจตนา ครับ
4.ส่วนกรณีที่โจทก์เล่นโทรศัพท์ส่งข้อความผ่านโปรแกรมไลน์ในเวลางานนั้น เห็นว่า ตามกฎระเบียบพนักงานของจำเลย (เรียกชื่อยังไงก็ได้ จะหมายถึง “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 108,110,111 นั่นเอง) ห้ามเล่นโทรศัพท์ขณะทำงาน เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ (เหมา ๆ ทุกโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเรียกชื่อยังไงก็ตามครับ) เมื่อศาลแรงงานภาค 8 ฟังว่าโจทก์เล่นโทรศัพท์ส่งข้อความผ่านโปรแกรมไลน์ในเวลางาน แม้จะมีการพูดคุยในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวปะปนกันก็ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) แต่เป็นกรณีไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีโดยไม่ปรากฏว่าได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือก่อน (ตรงนี้ HR และนายจ้าง พลาดครับ) จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุกระทำผิดซ้ำคำเตือน จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงิน 16,000 บาท นั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย
5.เอาละครับคดีนี้ค่าชดเชยจบนะ คือต้องจ่ายให้ลูกจ้างไป ด้วยเหตุผลข้างต้น แต่ยังมีเงินอีก 2 ก้อน ได้แก่ [1] สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (จะเรียกว่าค่าบอกกล่าวล่วงหน้าก็ได้) กับ [2] ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มาว่ากันต่อว่าศาลท่านจะว่ายังไง…ตามนี้ครับ
…การที่โจทก์ฝ่าฝืนกฎระเบียบพนักงาน อันเป็นระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) ทั้งที่โจทก์ทราบอยู่แล้วว่ามีระเบียบดังกล่าว จึงเป็นการจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต (เจอ 2 กระทงเลยครับ) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยไม่จำต้องจ่าย (แปลว่าไม่ต้องจ่าย) สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานภาค 8 กำหนดให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8
โซเชียลมีเดียมีทั้งโทษและคุณ เลือกใช้ให้ถูกกาลเทศะและเหมาะสม ต้องดูด้วยว่านโยบายเป็นอย่างไร หากฝ่าฝืนอาจโดนมาตรการทางวินัยลงโทษ จนถึงขั้นเลิกจ้างอย่างคดีนี้ก็อาจเป็นได้
ที่มา : บทความ “ผ่าประเด็นบริหารคน ชี้ถูกผิดกฎหมายแรงงาน Social Media | Line Facebook ดาบ 2 คม ถ้าใช้ในเวลาทำงานเลิกจ้างได้” โดย กฤษฎ์ อุทัยรัตน์ วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 198 มิถุนายน 2562