18 เมษายน 2563
การขอรับเงินชราภาพจากกองทุนประกันสังคม มีเงื่อนไขเกี่ยวกับเวลาหลังออกจากงานอย่างไร ลองมาทำความเข้าใจกัน
เจตนารมณ์ในการคุ้มครองกรณีชราภาพ เพื่อให้ผู้ประกันตน “ออมเงิน” ไว้ใช้ในวัยชรา เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ประกันตนมีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพในวัยที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้
ด้วยเหตุนี้เมื่อเจตนารมณ์ของการจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพเป็นเงินออมของผู้ประกันตน จึงย่อมเป็นสิทธิของผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินคืน แม้จะออกจากงานไปนานเพียงใด และหรือ ไม่ได้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39
โดยมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินชราภาพซึ่งอาจเป็น
1.เงินบำเหน็จ (กรณีจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน)
2.เงินบำนาญ (กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน หรือมากกว่า)
เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือหากถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับเงินชราภาพ ทายาทตามที่กฎหมายกำหนดถือเป็นผู้มีสิทธิขอรับเงินบำเหน็จนั้น
อย่างไรก็ตามในการยื่นคำขอรับเงินหรือสิทธิประโยชน์ในกรณีต่าง ๆ ตามกฎหมายประกันสังคม ผู้มีสิทธิหมายถึงผู้ประกันตนเองหรือผู้มีสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้ จะต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ
ดังนั้นกรณีที่ผู้ประกันตนออกจากงานไปแล้วในขณะที่อายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ สิทธิในการขอรับเงินชราภาพจะเกิดขึ้นเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จึงต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 2 ปี นับแต่สิทธิเกิด
ยกเว้น กรณีมีเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นคำขอรับได้ภายในกำหนดเวลา 2 ปี ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์หรือผู้ยื่นคำขอจะต้องแสดงเหตุผลและความจำเป็นเพื่อให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นว่ารับฟังได้หรือไม่ อย่างไร (มาตรา 56 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558)
……………………………………………………..
ที่มา : บางส่วนจากบทความ “9 ปัญหาเรื่องสิทธิรับ “เงินชราภาพ” จากกองทุนประกันสังคม (ตอนที่ 2)” โดย ปรานี สุขศรี วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 202 เดือนตุลาคม 2562 สมัครสมาชิก คลิก