18 เมษายน 2563
สละสิทธิ์ไม่ใช้สิทธิประกันสังคม เจตนาที่ผู้ประกันตนต้องระวัง เพราะอาจเสียสิทธิ์ความคุ้มครองตามกฎหมายได้
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับการบริการทางการแพทย์จากกองทุนประกันสังคม แต่ได้แสดงเจตนาสละสิทธิไม่ใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม การแสดงเจตนาจะมีผลผูกพันผู้ประกันตนหรือไม่?
ในเรื่องนี้ มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ 2 ลักษณะ คือ
กรณีที่ 1 การแสดงเจตนาสละสิทธิไม่ใช้สิทธิประกันสังคมมีผลผูกพันผู้ประกันตน
ถ้าผู้ประกันตนใช้สิทธิตามบัตรประกันสังคมจะได้รับบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานของสำนักงานประกันสังคมที่ตกลงไว้กับสถานพยาบาลตามสิทธิ คือ โรงพยาบาลตามสิทธิจะดูแลรักษาเหมือนคนไข้ธรรมดาทั่วไปซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แต่ถ้าไม่ใช้สิทธิประกันสังคมเพราะมีบุคคลอื่นเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมายประกันสังคม การบริการทางการแพทย์จะมีมาตรฐานดีกว่า ย่อมก่อผลผูกพันกันได้ตามความสมัครใจจะได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรก็เป็นการรับรองเจตนาของผู้ประกันตนเอง
กรณีที่ 2 การแสดงเจตนาสละสิทธิไม่ใช้สิทธิประกันสังคมไม่มีผลผูกพันผู้ประกันตน
ในบางกรณีที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ แต่แจ้งความประสงค์ขอรับบริการพิเศษกว่าที่ประกันสังคมจัดให้ เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าอาหาร ค่ายา ค่าแพทย์ที่ผู้ประกันตนระบุเฉพาะ กรณีเช่นนี้ สถานพยาบาลตามสิทธิมีสิทธิเรียกให้ผู้ประกันตนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนที่เกินจากสิทธิประกันสังคม แต่จะต้องตกลงกับผู้ประกันตนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย
ดังนั้นในทางปฏิบัติเมื่อผู้ประกันตนต้องการบริการพิเศษเพื่อความสะดวกสบายและรวดเร็วในการบริการทางการแพทย์หรือเพื่อให้ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีกว่า เช่น ห้องพิเศษอื่นที่ไม่ใช่ห้องที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยประกันสังคม สถานพยาบาลจึงอาจให้ผู้ประกันตนลงลายมือชื่อใน “แบบพิมพ์หนังสือยินยอมไม่ขอใช้สิทธิผู้ป่วยประกันสังคม” ของสถานพยาบาล หรือ ผู้ประกันตนอาจลงลายมือชื่อและกรอกข้อความในแบบพิมพ์หนังสือยินยอมไม่ขอใช้สิทธิผู้ป่วยประกันสังคม โดยรับรองว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นและเขียนเพิ่มเติมต่อว่า “ยกเว้นสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย”
การที่ผู้ประกันตนลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมไม่ขอใช้สิทธิผู้ป่วยประกันสังคมโดยรับรองว่าจะไม่เรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีผลทำลายหรือกระทบต่อสิทธิที่ผู้ประกันตนมีอยู่ตามกฎหมายนั่นเอง แต่ผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนการบริการพิเศษที่เกินกว่ามาตรฐานหรือค่าบริการทางการแพทย์ที่เกินกว่าสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย ดังนั้นการแสดงเจตนาสละสิทธิไม่ใช้สิทธิประกันสังคม ในทางกฎหมายถือว่าใช้บังคับกันไม่ได้
แม้ผู้ประกันตนจะลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์ “หนังสือยินยอมไม่ขอใช้สิทธิผู้ป่วยประกันสังคม” ของสถานพยาบาลหรือลงลายมือชื่อและกรอกข้อความโดยรับรองว่าจะไม่เรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น และเขียนเพิ่มเติมต่อว่า “ยกเว้น สิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย” ผู้ประกันตนยังคงได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประกันสังคมที่กฎหมายกำหนด ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกินกว่าสิทธิที่ประกันสังคมกำหนด ผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น
แต่หากการแสดงเจตนาสละสิทธิไม่ใช้สิทธิรับบริการทางการแพทย์จากประกันสังคมโดยมีบุคคลอื่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายซึ่งจะได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ดีกว่าหรือมากกว่า ข้อตกลงนี้ผูกพันผู้ประกันตนทั้งในทางที่เสียประโยชน์และได้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกันตนจึงต้องแสดงเจตนาด้วยความระมัดระวัง เพราะการสละสิทธิในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนเสียสิทธิที่พึงมีพึงได้จากความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายอื่นในเวลาเดียวกัน
ที่มา : จากบทความ : “สละสิทธิ์ไม่ใช้สิทธิประกันสังคม เจตนาที่ผู้ประกันตนต้องระวัง” โดย : ปรานี สุขศรี วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 200 เดือนสิงหาคม 2562