โทษหนัก! ฉวยโอกาสลักทรัพย์ช่วงน้ำท่วม เสี่ยงจำคุกสูงสุด 7 ปี

12 ตุลาคม 2565

ช่วงน้ำท่วมทำให้ผู้คนเดือดร้อนเป็นวงกว้าง และสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก บางคนต้องย้ายออกจากบ้านเพราะอาศัยอยู่ท่ามกลางน้ำที่สูงขึ้นไม่ไหว ยิ่งกว่านั้นหากในช่วงที่ผู้คนต่างทิ้งบ้านไว้ มีกลุ่มมิจฉาชีพหรือหัวขโมยเข้ามาลักทรัพย์ ก็ยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ผู้อื่นอีกหลายเท่า ดังนั้นจึงมีบทลงโทษสำหรับคนกลุ่มนี้หนักกว่าโทษปกติ ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไร ตามไปดูกัน

 

กฎหมายที่เกี่ยวกับการลักทรัพย์

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334

ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์

1. ในเวลากลางคืน

2. ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใดๆ

3. โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ

4. โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้

5. โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้

6. โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน

7. โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

8. ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ

9. ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ

10. ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์

11. ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

12. ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท

ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 140,000 บาท

ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ก็ได้

 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ

ผู้ใดลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนา ถ้าทรัพย์นั้นเป็นที่สักการบูชาของประชาชน หรือเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพระพุทธรูป หรือวัตถุดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก ได้กระทำในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน สถานที่ราชการหรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท

 

วิกฤติน้ำท่วม ทำให้ผู้คนเดือดร้อนเป็นวงกว้าง นอกจากความช่วยเหลือในด้านอาหารการกิน หรือที่พักพิงอาศัย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตแล้ว ความปลอดภัยต่อทรัพย์สินที่ยังติดค้างอยู่ในบ้าน และอาจนำติดตัวไม่ได้ ก็เป็นความหวังหนึ่งเมื่อถึงเวลาน้ำลด เจ้าของบ้านก็ยังหวังอยากให้ยังคงอยู่ เพราะนั่นอาจเป็นสินทรัพย์ที่จะต่อชีวิตพวกเขาได้ ดังนั้นสำหรับกลุ่มมิจฉาชีพไม่หวังดี เมื่อกระทำความผิด ก็ยากจะเลี่ยงความผิดและบทลงโทษข้างต้นได้

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?