26 สิงหาคม 2567
การจัดทำรายงานความยั่งยืน
ประโยชน์ของการรายงานความยั่งยืน
1. บริษัทมีข้อมูลด้าน ESG เพื่อตัดสินใจทางธุรกิจ หรือ พัฒนาองค์กร อีกทั้งเป็นโอกาสที่จะดึงดูดผู้ลงทุนคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการนำเสนอข้อมูลที่สะท้อนความสามารถในการดำเนินธุรกิจระยะยาว
2. ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่หลากหลาย และเพียงพอสำหรับการตัดสินใจลงทุน
3. ผู้ประกอบวิชาชีพด้านหลักทรัพย์ มีข้อมูลสำหรับวิเคราะห์ความเสี่ยง และโอกาสของการลงทุน ในธุรกิจที่มีการดำเนินงานด้าน ESG
4. ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ เช่น หน่วยงานกำกับดูแล หรือ ผู้ประเมินด้านความยั่งยืน มีข้อมูลด้าน ESG เพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมการดำเนินงาน ด้านความยั่งยืน ของอุตสาหกรรมในภาพรวม
ขอบเขตการรายงานความยั่งยืน
1. ลักษณะการประกอบธุรกิจ
บริษัทสามารถกำหนดขอบเขตเนื้อหา จากธุรกิจหลัก หรือบริษัทแม่ก่อน กรณีที่ มีบริษัทย่อยเป็นจำนวนมาก หรือ บริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้น อาจกำหนดขอบเขตเนื้อหา จากธุรกิจที่มีสัดส่วนการถือหุ้นมาก และ / หรือ มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียก่อน เมื่อบริษัทมีความพร้อมในด้านการรายงานแล้ว จึงค่อยๆ ขยายขอบเขตไปสู่ธุรกิจของบริษัท
2. พื้นที่การประกอบธุรกิจ
บริษัทสามารถพิจารณาปัจจัยด้านพื้นที่ เพื่อกำหนดขอบเขตเนื้อหาการรายงาน เช่น ระยะทางจากพื้นที่ หรือ สถานที่ตั้งการประกอบธุรกิจ บทบาทของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์อื่นๆ เช่น โรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง กรณีบริษัทประกอบธุรกิจในหลายพื้นที่ อาจพิจารณาจาก ขนาดของพื้นที่ หรือ สถานที่ตั้งด้วย
กิจกรรมในแต่ละมิติของ ESG วิเคราะห์ได้จาก
● มิติด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
● มิติด้านสังคม เช่น การปฏิบัติต่อพนักงาน สิทธิมนุษยชน การดูแลสุขภาวะและความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นต้น
● มิติด้านธรรมาภิบาลและเศรษฐกิจ เช่นบรรษัทภิบาล การบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน การบริหารจัดการคู่ค้า นวัตกรรม เป็นต้น