8 บริการในระบบ E-Payment ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการจับจ่ายทำธุรกิจจะมีอะไรบ้างนั้น มาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันครับ
ในขณะที่โลกการค้าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้คนทั่วไปมีทางเลือกในการใช้ชีวิตและการบริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปมีทางเลือกรูปแบบ ช่องทาง วิธีการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
E-Payment หรือ Electronic Payment เป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน โดยมีลักษณะเป็นระบบที่สามารถทำการโอนชำระเงินผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งตัวกลางที่ใช้ในการโอนก็คือ คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน และมีระบบอินเทอร์เน็ตเป็นตัวช่วยในการเชื่อมต่อ โอนผ่าน Payment Gateway ในรูปแบบของเว็บไซต์ และยังสามารถทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ผ่านทางบัตรเครดิตได้ โดยไม่มีเงินสดหรือตราสารทางการเงินที่เป็น กระดาษ (เช่น เช็ค ดราฟท์ ตั๋วแลกเงิน) เข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามระบบ E-Payment อยู่ภายใต้การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นก่อนเปิดใช้งานจึงต้องมีการขออนุญาตจากธนาคารก่อน ซึ่งธุรกิจที่อยู่ภายใต้การทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย มีทั้งหมด 8 บริการดังนี้
1. เครื่องเอทีเอ็ม (ATM หรือ Automated Teller Machine)
เป็นเครื่องทำธุรกรรมทางการเงินอัตโนมัติของธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการหลากหลายทั้งถอนเงินสด โอนเงิน สอบถามยอด ชำระค่าสินค้า/บริการ ฯลฯ ตลอดเวลา
2. เครื่องรับบัตร ณ จุดขาย (EDC/EFTPOS หรือ Electronic Data Capture/Electronic Fund Transfer at Point of Sales)
เป็นเครื่องซึ่งติดตั้งที่ร้านค้าเพื่อรับชำระค่าสินค้า/บริการผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรอื่น ๆ
3. การชำระเงินทางโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment)
เป็นการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือ
4. การชำระเงินผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Online Payment)
โดยผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) แหวนอัจฉริยะ (Smart Ring) อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) อื่นๆ โดยผู้ซื้อสามารถเลือกชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัญชีเงินฝาก หรือ e-Money เป็นต้น
5. บัตรเอทีเอ็ม (ATM Card)
เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งธนาคารออกให้ เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมผ่านตู้ ATM
6. บัตรเดบิต (Debit Card)
มีคุณสมบัติเหมือนบัตร ATM แต่สามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้า/บริการกับร้านค้าที่ร่วมรับบัตรได้ด้วย โดยยอดเงินที่ต้องชำระจะถูกหักจากบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรนั้นทันที
7. บัตรเครดิต (Credit Card)
เป็นบัตรที่ใช้ชำระค่าสินค้า/บริการหรือใช้เบิกเงินสดล่วงหน้า โดยมีการกำหนดวงเงินการใช้จ่ายผ่านบัตร ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยหากเกินกำหนดระยะเวลาชำระหนี้
8. เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money หรือ Electronic Money)
คือ มูลค่าเงินที่บันทึกอยู่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (เช่น ชิพคอมพิวเตอร์ในบัตร อิเล็กทรอนิกส์ เครือข่ายโทรศัพท์ หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) ซึ่งผู้ใช้จะเติมเงิน/ชำระเงินล่วงหน้าไว้กับผู้ให้บริการ e-Money แล้วจึงหักมูลค่าเงิน เมื่อใช้ e-Money ในการซื้อสินค้า/บริการแทนเงินสด
จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พบว่า ธุรกิจ e-Commerce เกือบทุกสาขาให้ความสำคัญกับการรับชำระเงินผ่านทางออนไลน์ โดยในแต่ละสาขามีธุรกิจมากถึงร้อยละ 70-90 ที่เปิดให้ลูกค้าสามารถชำระค่าสินค้า/บริการทางออนไลน์ได้ ทั้งนี้ช่องทางการชำระเงินที่นิยมเปิดให้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1.บัตรเครดิตและบัตรเดบิต (ร้อยละ 45)
2.e-banking เช่น Internet Banking Mobile Banking (ร้อยละ 29)
3.การชำระเงินผ่าน Mobile Payment Application หรือตัวแทน (Third party) เช่น mPAY, TrueMoney และ Airpay (ร้อยละ 23)
ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และการดำเนินนโยบายการเงินอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพฤติกรรมลดการใช้เงินสด องค์กรผู้มีอำนาจทางการเงินควรติดตามบทบาทของ e-payment กับพฤติกรรมการใช้เงินสดของคนไทยและนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินเป็นระยะ เพราะการที่ผู้ให้บริการชำระเงินรายย่อยเข้ามาเสนอทางเลือกใหม่และการมีเทคโนโลยีใหม่อาจทำให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจนอาจกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินได้ในที่สุด
…………………………….
ที่มา : บางส่วนจากบทความ “การจัดเก็บภาษีอากร : ธุรกิจออนไลน์” โดย สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 38 ฉบับที่ 456 เดือนกันยายน 2019 หรือสมัครสมาชิก “วารสารเอกสารภาษีอากร” คลิก