ลาภมิควรได้ คืออะไร?

ลาภมิควรได้ คืออะไร? 

เคยได้ยินคำว่า ลาภลอย มาก็หลายครั้ง หวังลมๆ แล้งๆ ว่าให้เกิดกับเราบ้างสักครั้งก็มี แต่รู้หรือไม่ว่าลาภลอย ที่ได้มา อาจกลายเป็นลาภมิควรได้ ซึ่งหากได้มาแล้วต้องรีบส่งคืนเจ้าของที่แท้จริง ไม่เช่นนั้นคุณอาจทำผิดกฎหมายโดยไม่ทันตั้งตัว แล้วลาภมิควรได้ ที่ว่านี้คืออะไร ทำไมถึงมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย วันนี้ธรรมนิติ จะพาไปหาคำตอบพร้อมกัน

ลาภมิควรได้ คืออะไร? 

ลาภมิควรได้ คือ ทรัพย์สิ่งใดที่บุคคลหนึ่งได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ บุคคลที่ได้ทรัพย์มานั้นมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406

มาตรา 406 บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา อนึ่งการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่หรือหาไม่นั้น ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย

บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มาเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งมิได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย

ตัวอย่าง A เป็นหนี้ C อยู่ แต่เมื่อถึงเวลาชำระหนี้ กลับชำระให้แก่ B เพราะเข้าใจผิดคิดว่า B คือ C ดังนั้นลาภที่ตกแก่ B จะถือเป็นลาภมิควรได้ และ B ต้องส่งคืนให้กับ A

การกระทำที่เข้าข่ายลาภมิควรได้ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง?

การกระทำต่างๆ ที่ถือว่าเข้าตามหลักเรื่องลาภมิควรได้ มีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ

1) ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มมา ต้องมีลักษณะที่เป็นการทำให้ลาภเพิ่มพูนขึ้นจากกองทรัพย์สิน หรือการมีกรรมสิทธิ์ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงสิทธิ์การครอบครอง

2) เป็นการได้มาโดยปราศจากมูลเหตุที่จะอ้างกฎหมายได้ กล่าวคือ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายให้สิทธิ์แก่บุคคลที่ได้รับทรัพย์สินนั้น ซึ่งอาจเป็นเรื่องการชำระหนี้ที่ไม่มีความผูกพัน หรือการสำคัญผิดตัวเจ้าหนี้ หรือการสำคัญผิดในมูลหนี้

3) เป็นการทำให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ กล่าวคือ การที่บุคคลได้รับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์เพิ่มขึ้นนั้น มีผลทำให้บุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์ต้องสูญเสียทรัพย์ไปโดยไม่สมควรที่จะเสียปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างตามกฎหมาย

4) ไม่มีทางแก้ตัวตามกฎหมายอย่างอื่น หมายความว่า บุคคลที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินหรือผลประโยชน์นั้น โดยไม่สามารถเรียกร้องทรัพย์ทางอื่นได้อีกแล้ว นอกจากการเรียกคืนลาภมิควรได้

***บุคคลที่ได้รับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ซึ่งมีองค์ประกอบตามหลักลาภมิควรได้ ต้องคืนทรัพย์สินให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ยกเว้นบางกรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าไม่ต้องคืน เช่น เป็นการชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระอันเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ

เงื่อนไขการส่งคืนทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิได้ควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิได้ควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

มาตรา 413 เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงินและบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบในการที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือบุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย

ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยทุจริต ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา 414 ถ้าการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะสภาพแห่งทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้นเองก็ดี หรือเพราะเหตุอย่างอื่นก็ดี และบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน

ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินนั้นไว้โดยสุจริต ท่านว่าต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน

ลาภมิควรได้ มีข้อยกเว้นที่ไม่ต้องส่งคืนทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

มาตรา 408 บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ คือ

(1) บุคคลผู้ชำระหนี้อันมีเงื่อนเวลาบังคับเมื่อก่อนถึงกำหนดเวลานั้น

(2) บุคคลผู้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความ

(3) บุคคลผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสมาคม

มาตรา 409 เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปโดยสำคัญผิด เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ผู้ทำการโดยสุจริตได้ทำลาย หรือลบล้างเสียซึ่งเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ก็ดี ยกเลิกหลักประกันเสียก็ดี สิ้นสิทธิไปเพราะขาดอายุความก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้ไม่จำต้องคืนทรัพย์

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ไม่ขัดขวางต่อการที่บุคคลผู้ได้ชำระหนี้นั้นจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ถ้าจะพึงมี

มาตรา 410 บุคคลผู้ใดได้ทำการชำระหนี้โดยมุ่งต่อผลอย่างหนึ่ง แต่มิได้เกิดผลขึ้นเช่นนั้น ถ้าและบุคคลนั้นได้รู้มาแต่แรกว่าการที่จะเกิดผลนั้นเป็นพ้นวิสัยก็ดี หรือได้เข้าป้องปัดขัดขวางเสียมิให้เกิดผลเช่นนั้นโดยอาการอันฝ่าฝืนความสุจริตก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์

มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้ เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่

จะเห็นได้ว่าจากรายละเอียดข้างต้น ความดีใจกับลาภลอยนั้นกลับเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย และจากลาภลอยกลายเป็น ลาภมิควรได้ ธรรมนิติจึงหวังว่าข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ทั้งแก่กับผู้ที่ได้รับและผู้เสียทรัพย์ ทั้งนี้หากเป็นผู้เสียทรัพย์หรือเสียเปรียบมีสิทธิ์ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิ์เรียกคืน

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

กระทรวงยุติธรรม

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?