กฎหมายครอบครัว EP 2
การสมรสเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขและสิทธิหน้าที่ของคู่สมรส เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความมั่นคงในชีวิตครอบครัว ด้วยการปรับปรุงกฎหมายสมรสให้สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสให้ทุกคู่รักสามารถสร้างครอบครัวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจเงื่อนไขสำคัญของการสมรสที่กฎหมายกำหนด รวมถึงข้อกำหนดใหม่ที่มาพร้อมกับการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้คุณได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและสามารถวางแผนการใช้ชีวิตคู่ได้อย่างมั่นใจ
เงื่อนไขการสมรส
1. การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ (มาตรา 1448)
2. บุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (มาตรา 1449)
3. ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป หรือ ลงมา พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือ ร่วมแต่บิดาหรือมารดา จะสมรสกันไม่ได้ (มาตรา 1450)
4. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ (มาตรา 1451)
5. บุคคลจะสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ (มาตรา 1452)
6. หญิงที่สามีเสียชีวิตจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อ สิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน (มาตรา 1453) เว้นแต่
• คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
• สมรสกับคู่สมรสเดิม
• มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือ
• มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
7. บุคคลสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกัน และต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฎโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย (มาตรา 1458)
8. เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้ ต้องนำหลักฐานมาแจ้งต่อนายทะเบียน ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่อาจทำการจดทะเบียน
พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียนได้ มีอะไรบ้าง ?
• เมื่อบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือ ทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้แก่ความตาย
• เมื่อบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือ ทั้งสองฝ่ายอยู่ในภาวะการรบ หรือ สงคราม
ถ้าบุคคลทั้งสองได้แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าพยาน (อายุ 20 ปี ขึ้นไป) ให้บุคคลดังกล่าวจดแจ้งการแสดงเจตนาขอสมรสของบุคคลทั้งสองนั้นไว้เป็นหลักฐาน และต่อมาบุคคลทั้งสองได้จดทะเบียนสมรสกันภายใน 90 วันนับแต่วันที่อาจทำการจดทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนจดวันเดือนปีสถานที่ที่เจตนาขอทำการสมรส และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ในทะเบียนสมรส
มาตรา 1460 แห่งประมาลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567
อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับ สมรสเท่าเทียม
สมรสเท่าเทียม กับสิทธิประกันสังคม
การหมั้น สัญญาก่อนสมรส Update พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม
สมรสเท่าเทียม กับภาษีอากร