18 เมษายน 2563
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆ นักท่องเที่ยวสามารถทำ Vat Refund สำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อขอคืนภาษีมูลเพิ่มได้ครับ
การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวหรือ Vat Refund สำหรับนักท่องเที่ยวนั้น เป็นมาตรการทางภาษีอากรเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้สามารถคืนภาษีให้นักท่องเที่ยวอย่างถูกต้อง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
คุณสมบัตินักท่องเที่ยวที่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
1. ไม่เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2. ไม่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย
3. ไม่เป็นนักบิน หรือลูกเรือของสายการบินที่เดินทางออกนอกประเทศไทย
4. เดินทางออกนอกประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ
5. ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว โดยให้สังเกตสัญลักษณ์ VAT REFUND FOR TOURISTS ปิดแสดงไว้ที่ร้านค้า
6. ซื้อสินค้าในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากสถานประกอบการแห่งละจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อวัน
สินค้า (ไม่ใช่ค่าบริการ) ที่นักท่องเที่ยวมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้
1. เป็นสินค้าที่ซื้อจากร้านค้าที่เป็นผู้ประกอบการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว
2. เป็นสินค้าที่นำออกนอกประเทศ พร้อมการเดินทางโดยเครื่องบิน ภายใน 60 วัน โดยนับวันที่ซื้อสินค้าเป็นวันแรก
3. ไม่เป็นสินค้าต้องห้ามนำออกนอกราชอาณาจักร เช่น วัตถุระเบิด อาวุธปืน อัญมณี ที่ยังไม่ได้ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน
4. สินค้าต้องผ่านการตรวจจากศุลกากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ
5. ในการขอคืนภาษีนั้นต้องดำเนินการยื่นแบบขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (แบบ ภ.พ.10) แต่ละฉบับต้องมียอดซื้อ 2,000 บาทขึ้นไป (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) และต้องผ่านการตรวจสินค้าจากศุลกากร โดยดูในแบบ ภ.พ.10 ช่องสำหรับเจ้าหน้าที่ศุลกากรด้านล่างมุมขวาของแบบ ภ.พ.10 จะต้องมีตราประทับและเจ้าพนักงานศุลกากรลงชื่อกำกับพร้อม วัน เดือน ปีไว้ แต่กรณีซื้อสินค้าราคาแพงที่กรมสรรพากรกำหนด 5 ชนิด ได้แก่ อัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา มูลค่าชิ้นละตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป โดยต้องนำผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เข้าไปให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจและประทับตราลงนามกำกับอีกครั้งด้วย
สถานที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1. สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวประจำท่าอากาศยานนานาชาติ
1.1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
1.2 ท่าอากาศยานดอนเมือง
1.3 ท่าอากาศยานเชียงใหม่
1.4 ท่าอากาศยานภูเก็ต
1.5 ท่าอากาศยานหาดใหญ่
1.6 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา
1.7 ท่าอากาศยานกระบี่
1.8 ท่าอากาศยานสมุย
1.9 ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี
1.10 ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย
2. ใส่ในตู้รับคำร้อง ณ สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวประจำท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่ง
3. ส่งให้กรมสรรพากรทางไปรษณีย์ : กรมสรรพากร กลุ่มบริหารการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว 90 พหลโยธิน ซอย 7 แขวงสามเสน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
ขั้นตอนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.เมื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ VAT REFUND FOR TOURISTS มูลค่า 2,000 บาทขึ้นไป ให้ขอคำร้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) จากทางร้านค้าในวันซื้อสินค้า
2. ในวันเดินทางออกนอกประเทศ ให้นำสินค้าที่ระบุในคำร้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) จากทางร้านค้า พร้อมเอกสารต้นฉบับ ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสินค้าและประทับตรา และลงชื่อ วันเดือนปีกำกับไว้ในแบบ ภ.พ.10 มุมขวาล่าง ช่องสำหรับเจ้าพนักงานศุลกากร ส่วนกรณีสินค้าที่ขอคืนเป็นสินค้าที่กรมสรรพากรกำหนด 5 ชนิด ได้แก่ อัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือน ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา ที่มีมูลค่า ชิ้นละ 10,000 บาทขึ้นไป ต้องนำไปให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจอีกครั้ง
2.หลังจาก Check-In กระเป๋าเดินทาง และผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อย ให้ยื่นเอกสารการขอคืนภาษีและสินค้าที่กรมสรรพากรกำหนด 5 ชนิด (ถ้ามี) ต่อเจ้าพนักงานสรรพากร เพื่อขอรับเงินภาษีคืนได้
สาเหตุที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
• ซื้อสินค้ามูลค่าน้อยกว่า 2,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากสถานประกอบการแห่งเดียวกัน ในวันเดียวกัน
• ไม่ได้จัดทำแบบ ภ.พ.10 ในวันที่ซื้อสินค้า
• ไม่แนบต้นฉบับใบกำกับภาษีมาพร้อมกับแบบ ภ.พ.10
• ชื่อและหมายเลขหนังสือเดินทางในใบกำกับภาษีที่แนบมากับแบบ ภ.พ.10 ไม่ใช่ของผู้ขอคืนภาษี
• ไม่ได้นำสินค้าออกนอกประเทศไทยภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ซื้อสินค้า
• ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศไทยผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติ
• ไม่ได้นำแบบ ภ.พ.10 และสินค้าไปให้ศุลกากรตรวจและประทับตรา
• กรณีเป็นสินค้าราคาแพงเมื่อให้เจ้าพนักงานศุลกากรตรวจแล้ว ไม่ได้นำผ่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไปให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจอีกครั้ง
• ไมได้ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ในระบบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (VRT)
• เป็นลูกเรือที่เดินทางออกนอกประเทศไทยในระหว่างปฏิบัติหน้าที่
รายละเอียดเพิ่มเติมคลิกไปได้ที่ : http://vrtweb.rd.go.th/index.php/th/
เรื่องโดย : ทีมงาน บริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด