ว่าด้วยเรื่องของ .. หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน

หลักประกันการทำงาน

22 สิงหาคม 2567

หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551

เมื่อเร็วๆนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป บทความฉบับนี้ขออธิบายถึงหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ

ความเป็นมาของการเรียกหรือรับหลักประกัน

แต่เดิมก่อนปี พ.ศ. 2541 นายจ้างสามารถเรียกหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างได้โดยอิสระ โดยถือเป็นเสรีภาพในการทำสัญญา (freedom of contract) ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง สาเหตุประการสำคัญของการจัดให้มีหลักประกันการทำงานก็คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกจ้าง หากลูกจ้างก่อความเสียหายให้แก่นายจ้างแล้ว ลูกจ้างส่วนใหญ่มักไม่มีเงินหรือทรัพย์มาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น นายจ้างจึงมักนิยมกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องหาหลักประกันให้แก่นายจ้าง เช่น การจัดหาบุคคลมาลงชื่อค้ำประกันการทำงาน การนำเงินมาวางไว้เป็นประกัน รวมไปถึงหลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มาส่งมอบให้นายจ้างยึดถือไว้เป็นประกันนายจ้างหลายรายเอาเปรียบลูกจ้าง โดยเฉพาะเรื่องการวางเงิน โดยเรียกเงินประกันในทุกตำแหน่งงาน ไม่ว่างานนั้นจะมีโอกาสก่อความเสียหายได้มากน้อยเพียงใด ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกจ้างต้องกู้ยืมเงินและเป็นหนี้ บางครั้งนายจ้างเรียกเงินประกันเป็นจำนวนมากเกินสมควร ลูกจ้างได้ค่าแรงวันละไม่กี่ร้อยบาท แต่นายจ้างให้วางเงินประกันหลายหมื่นบาท เมื่อได้รับเงินประกันไปแล้ว นายจ้างบางรายนำไปใช้เป็นเงินทุนในการประกอบธุรกิจโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ที่สำคัญเมื่อลูกจ้างออกจากงานแล้ว นายจ้างบางรายไม่ยอมคืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้าง ลูกจ้างทวงจนท้อไปเอง

ในปี พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 กำหนดห้ามมิให้นายจ้างเรียกเงินหรือรับประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายในการทำงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างได้ ตลอดจนจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี

ต่อมาได้มีการประกาศใช้ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2541 กำหนดตำแหน่งงานที่นายจ้างสามารถเรียกหรือรับเงินประกันได้ ทั้งนี้มีการกำหนดให้เรียกได้ไม่เกินค่าจ้างเฉลี่ย 60 วันของลูกจ้าง เมื่อเรียกมาแล้วจะต้องนำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับเงินประกัน และนายจ้างมีหน้าที่คืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่การประกันสิ้นสุดลง ดังนั้น ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 2541 นายจ้างยังคงมีสิทธิเรียกประกันโดยให้ลูกจ้างหาบุคคลมาค้ำประกันหรืออาจประกันด้วยทรัพย์ได้ในทุกตำแหน่ง

ครั้นปี พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 กำหนดห้ามไม่ให้นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงานและหลักประกันความเสียหายจากการทำงาน ไม่ว่าจะประกันด้วยเงิน ประกันด้วยบุคคลหรือประกันด้วยทรัพย์ เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับเงินประกันจากลูกจ้างได้ ตลอดจนจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ประเภทของการประกัน

การประกัน แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ได้แก่ ประกันการทำงานและประกันความเสียหายจากการทำงาน

2.1 ประกันการทำงาน

เป็นการประกันระยะเวลาการปฏิบัติงานของลูกจ้าง โดยนายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันว่า ลูกจ้างจะทำงานให้แก่นายจ้างเป็นระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ เช่น ต้องทำงานไม่น้อยกว่า 6 เดือน หากผิดสัญญา ลูกจ้างออกจากงานไปก่อนครบกำหนด ถือว่าลูกจ้างผิดสัญญา นายจ้างมีสิทธิเรียกค่าเสียหาย หากเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างไม่ได้ ก็จะเรียกเอาจากหลักประกัน มักจะเกิดสองกรณี

กรณีแรก เมื่อแรกเข้าทำงาน มักจะเป็นตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องลงทุนทางด้านบุคลากร เช่น ต้องจัดหาชุดทำงาน หรือเครื่องมือในการปฏิบัติงานเป็นการเฉพาะ ต้องมีการฝึกอบรม ให้ความรู้ลูกจ้างเสียก่อนจึงจะปฏิบัติงานได้ เมื่อนายจ้างต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างว่าลูกจ้างจะต้องทำงานให้แก่นายจ้างไม่น้อยกว่า 6 เดือน หากออกจากงานไปก่อน ถือว่าผิดสัญญาและต้องใช้ค่าเสียหาย

กรณีที่สอง ในระหว่างทำงาน มักเป็นกรณีที่นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกอบรม ดูงานหรือศึกษาต่อในประเทศหรือต่างประเทศ โดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขให้ลูกจ้างต้องทำงานให้แก่นายจ้างหลักจากเสร็จการฝึกอบรม ดูงานหรือศึกษาต่อตามระยะเวลาที่กำหนด หากลูกจ้างผิดสัญญาเอาค่าเสียหายจากลูกจ้างไม่ได้ ก็จะเรียกเอาค่าเสียหายจากหลักประกัน

มีข้อควรทราบว่า การกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า ตามกฎหมายถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินไป ศาลแรงงานสามารถปรับลดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

2.2 ประกันความเสียหายจากการทำงาน

เป็นการประกันความเสียหายที่ลูกจ้างอาจก่อขึ้นในระหว่างทำงานเป็นลูกจ้าง เช่น พนักงานการเงิน หากทำเงินนายจ้างสูญหายในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ หรือพนักงานขับรถของนายจ้างตามหน้าที่ แต่ขับด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับผู้อื่น ทำให้รถยนต์ของนายจ้างได้รับความเสียหาย หากเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างไม่ได้ ก็จะเรียกค่าเสียหายจากหลักประกัน กรณีตามตัวอย่างนี้ ถือเป็นการประกันความเสียหายจากการทำงาน

ข้อห้ามเรียกรับหลักประกัน

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 ที่แก้ไขโดยพระราช บัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 กำหนดห้ามการเรียกหรือรับหลักประกันว่า “ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้างได้ ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกันและวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

ลักษณะหรือสภาพของงานที่เรียกหรือรับหลักประกันได้

ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ. 2551 ข้อ 4 กำหนดให้ลักษณะหรือสภาพของงานที่นายจ้างอาจเรียกหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานได้ มีดังนี้

(1) งานสมุห์บัญชี
(2) งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน
(3) งานควบคุมหือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาวและไข่มุก
(4) งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้าง หรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง
(5) งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
(6) งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
(7) งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงินหรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

ผลในทางกฎหมายก็คือ หากเป็นลูกจ้างที่ทำงานงานในลักษณะดังกล่าวมาข้างต้น นายจ้างอาจเรียกหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้างได้ แต่ถ้ามิใช่งานที่กล่าวมาข้างต้น นายจ้างจะเรียกหรือรับหลัก ประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้างไม่ได้เลย

หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกรับหลักประกัน

ถึงแม้จะเป็นงานตามข้อยกเว้นที่จะเรียกหลักประกันได้ก็ตาม นายจ้างจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องดังนี้
กรณีหลักประกันเงินสด นายจ้างจะเรียกหรือรับหลักประกันเงินสดได้ไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวัยโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ เช่น ลูกจ้างทำงานสมุห์บัญชี ได้เงินเดือนเดือนละ 24,000 บาท นายจ้างจะเรียกหลักประกันเงินสด ได้ไม่เกิน 48,000 บาท

นายจ้างมีหน้าที่นำเงินประกันไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และแจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับเงินประกัน ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการดังกล่าว

ในกรณีที่เงินประกันลดลง เนื่องจากนำไปชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกรับเงินประกัน หรือตามข้อตกลงหรือโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง นายจ้างอาจเรียกเงินประกันเพิ่มได้เท่ากับจำนวนที่ลดลงไปกรณีหลักประกันเป็นทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่นายจ้างเรียกได้ ได้แก่ สมุดเงินฝากประจำธนาคาร หรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ทั้งนี้ทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องมีมูลค่าไม่เกินเกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวัยโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับเช่นกัน เช่น กรณีตามตัวอย่างข้างต้น นายจ้างอาจกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นสมุห์บัญชี นำสมุดเงินฝากธนาคารซึ่งมีเงินในบัญชีไม่เกิน 48,000 บาทมาวางเป็นประกันแก่นายจ้างได้

นอกจากนี้ นายจ้างจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้ลูกจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำธนาคารเป็นของนายจ้าง หรือของบุคคลอื่นไม่ได้กรณีหลักประกันโดยการค้ำประกันด้วยบุคคล นายจ้างอาจกำหนดให้ลูกจ้างจัดหาบุคคลมาทำหลักฐานการค้ำประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายจากการทำงานได้ โดยเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดได้ไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวัยโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ กรณีตามตัวอย่าง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างซึ่งเป็นสมุห์บัญชี จัดหาบุคคลมาทำสัญญาค้ำประกันได้ โดยระบุวงเงินค้ำประกันได้ไม่เกิน 48,000 บาท

ในการค้ำประกันด้วยบุคคล นายจ้างต้องจัดทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน 3 ฉบับ ให้นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ค้ำประกันเก็บไว้ฝ่ายละฉบับมีข้อสังเกตว่า ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกัน ฯ ไม่ได้ห้ามนายจ้างเรียกหลักประกันมากกว่าหนึ่งอย่าง ดังนั้น นายจ้างอาจเรียกหลักประกันเป็นเงินสด เป็นทรัพย์สินและค้ำประกันด้วยบุคคลด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ เมื่อคำนวณจำนวนมูลค่าของหลักประกันทุกประเภทรวมกันแล้ว จะต้องไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวัยโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ

การปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายฉบับใหม่

ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกัน ฯ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงานจากลูกจ้างไว้แล้วก่อนที่กฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับ จะต้องแยกพิจารณาเป็น สองกรณี

กรณีแรก หากลูกจ้างไม่ได้ทำงานตามลักษณะงานที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกัน ฯ ข้อ 4 หลักประกันที่มีอยู่เป็นอันสิ้นผลไป บังคับไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย

กรณีที่สอง หากลูกจ้างทำงานตามลักษณะงานที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกัน ฯ ข้อ 4 นายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการให้หลักประกันไม่เกินมูลค่า60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวัยโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ โดยจะต้องดำเนินการเสียให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศกระทรวงแรงงานฉบับนี้มีผลใช้บังคับ คือนับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2551

ความรับผิดในเรื่องการเรียกรับหลักประกันฝ่าฝืนกฎหมาย

นายจ้างที่ฝ่าฝืนปฏิบัติไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 10 ในเรื่องการกเรียกหรือรับการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงาน จะเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 144 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ จะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หากจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเ 7 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฯ มาตรา 9

บทสรุป

จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ที่แก้ไขมาตรา 10 ในเรื่องการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากการทำงาน มีผลจำกัดสิทธิของนายจ้างในการเรียกหลักประการทำงานของลูกจ้าง และแม้จะเป็นลักษณะงานที่เข้าข้อยกเว้นเรียกหลักประกันได้ หลักประกันที่เรียกได้ก็ได้ไม่เกินมูลค่า60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวัยโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ ซึ่งการเรียกหลักประกัน นายจ้างมักเรียกเมื่อแรกเข้าทำงาน ลูกจ้างยังมีตำแหน่งงานไม่สูงและมีค่าจ้างน้อย มูลค่าหลักประกันย่อมมีจำนวนน้อยตามไปด้วย หากลูกจ้างทำงานไปนาน ๆ มีตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบมากขึ้น แล้วจึงก่อความเสียหายหาย ย่อมมีโอกาสทำความเสียหายได้จำนวนมาก และหลักประกันที่เรียกไว้ไม่สามารถเยียวยาความเสียหายให้แก่นายจ้างได้ นายจ้างคงจะต้องพิจารณาการซื้อประกันความเสี่ยงจากผู้รับประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยง แน่นอนว่าเป็นต้นทุนของการประกอบธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือ ภาระในเรื่องการประกันการทำงานที่ฝ่ายลูกจ้างเคยแบกไว้บนบ่า บัดนี้ กลับกลายเป็นตกอยู่บนบ่าของฝ่ายนายจ้างเสียแล้ว

—-

แหล่งที่มา : www.jobdst.com

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?