24 กรกฎาคม 2562
ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธินำรายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม มาหักรายจ่ายได้อีก 1 เท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 รัฐได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอชี้แจงว่าบทความเดิม เรื่อง “รายจ่ายเพื่อการลงทุน ต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น หักรายจ่ายได้อีก 1 เท่า !!!” ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 [1]ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอก่อนที่ประกาศอธิบดีฉบับนี้[2]จะมีผลใช้บังคับนั้นมีบางประเด็นในบทความดังกล่าวอาจมีความคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีฉบับนี้กำหนด ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำเสนอบทความฉบับนี้ เพื่ออธิบายให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจหลักเกณฑ์ตามที่ประกาศอธิบดีกำหนดไว้ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
เงื่อนไขการได้รับสิทธิหักรายจ่ายได้อีก 1 เท่า มีดังนี้
1. ผู้ประกอบการได้จ่ายรายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ (ต้องไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม)
โดยพิจารณาความหมายได้ ดังนี้
1.1 คำว่า “รายจ่ายอันมีลักษณะเพื่อการลงทุน” เป็นรายจ่ายที่กิจการจ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเป็นการถาวรต่อกิจการไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ค่าอาคาร ค่าสิทธิ ค่าซื้อเครื่องจักร ค่าซื้อคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจะอำนวยประโยชน์แก่กิจการเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี[3]
1.2 คำว่า “รายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน” เป็นรายจ่ายเพื่อยังผลให้อายุการใช้งานของทรัพย์สินเดิมยาวนานขึ้น หรือปรับปรุงสภาพของทรัพย์สินที่กิจการมีอยู่แล้วให้มีสภาพดีขึ้น ประโยชน์การใช้มีมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะในรูปการต่อเติม เปลี่ยนแปลงหรือขยายออกซึ่งทรัพย์สิน หรือแม้เพียงทำให้มีสภาพดีขึ้นก็ตาม[4] เช่น ค่าตกแต่งอาคาร[5] เป็นต้น แต่มีข้อแม้ว่าในการปรับปรุงทรัพย์สินดังกล่าว ต้องไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้ทรัพย์สินเหล่านั้นกลับคืนสู่สภาพเดิม เช่น การซ่อมแซมทรัพย์สินให้คงสภาพเดิม เป็นต้น
2. ต้องเป็นทรัพย์สิน ดังนี้
2.1 เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์
2.2 โปรแกรมคอมพิวเตอร์
2.3 ยานพาหนะที่จดทะเบียนในไทย ไม่รวมรถยนต์ต้องห้าม (ยกเว้นซื้อมาเพื่อให้เช่า)
2.4 อาคารถาวร (ไม่รวมที่ดินและที่อยู่อาศัย)
3. ต้องจ่ายไปในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559
4. ทรัพย์สินตามข้อ 2. ต้องมีลักษณะ ดังนี้
4.1 เป็นทรัพย์สินใหม่แกะกล่อง
4.2 มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ และพร้อมใช้งานภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่สำหรับทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอาคารขนาดใหญ่ไม่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนเวลาดังกล่าว เนื่องจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรและอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมทรัพย์สินดังกล่าวต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็นไม่จำเป็นต้องได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559[6] ทั้งนี้ ต้องติดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐบาลจะประกาศกำหนดกันต่อไป ดังเช่น พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 622) พ.ศ.2559
4.3 ทรัพย์สินนั้นต้องอยู่ในประเทศไทย (ยกเว้น ยานพาหนะ)
4.4 ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้นำไปใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นและใช้สิทธิในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
5. ระยะเวลาการจัดทำเอกสารประกอบการซื้อทรัพย์สินตามข้อ 2.1 – 2.3 ต้องเกิดจากหนังสือสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559
6. ระยะเวลาการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงตามคำขอนั้นแล้ว
7. วิธีการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าว
ผู้ประกอบการมีสิทธินำรายจ่ายเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น[7]ซึ่งทรัพย์สินตามข้อ 2. มาหักรายจ่ายโดยวิธีการเฉลี่ยในจำนวนเท่ากันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันตามประเภทของทรัพย์สิน