18 เมษายน 2563
ครม.ไฟเขียวร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงเพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงเพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงมีรายละเอียดดังนี้
ร่างพระราชกฤษฎีกา
1.1 กำหนดให้กองทุนที่เป็นคณะบุคคลซึ่งเข้าร่วมในกองทุนซึ่งจัดตั้งและดำเนินการโดยบริษัทจัดการกิจการลงทุนตามโครงการในการประกอบกิจการจัดการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วย การควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน (ไม่ใช่กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) และผู้ลงทุนในกองทุนดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เช่นเดียวกันกับที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรก่อนการยกเลิกหรือการแก้ไขบทบัญญัตินั้นโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562
1.2 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
1.3 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับรายได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวต้องไม่นำต้นทุนและรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับรายได้นั้นมาหักเป็นรายจ่าย
1.4 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมสำหรับผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาซื้อตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและมีการจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน โดยกองทุนรวมดังกล่าวมิใช่ผู้ทรงคนแรก
1.5 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เสนอขายเฉพาะแก่สำนักงานประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
1.6 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562
1.7 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรที่เกิดขึ้นจากตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศเป็นผู้ออก เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นก่อนการเป็นผู้ทรงตราสารแสดงสิทธิในหนี้นั้น
1.8 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง 2) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง (กอง 4) ให้แก่
(1) บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (บริษัททั่วไป) สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จำนวนกึ่งหนึ่ง
(2) บริษัทจดทะเบียน สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้ทั้งจำนวน
ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่บริษัทหรือบริษัทจดทะเบียนตาม (1) หรือ (2) ถือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้นไม่ถึง 3 เดือนนับแต่วันที่ได้หน่วยลงทุนนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหน่วยลงทุนนั้นไปก่อน 3 เดือนนับแต่วันที่มีเงินได้
1.9 กำหนดให้กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
- ร่างกฎกระทรวง
กำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15.0 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
ทั้งนี้ กรณีเป็นผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ให้ถือว่าผู้ออกตั๋วเงินหรือผู้ออกตราสารแสดงสิทธิในหนี้ให้แก่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน และให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากกองทุนรวมดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15.0 และให้ถือว่าภาษีที่เรียกเก็บนั้นเป็นภาษีที่หักไว้
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงข้างต้นให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/21247